วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

แผนการจัดการเรียนรู้แนว Back Ward Design

แผนการจัดการเรียนรู้แนว Back Ward Design
ที่ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสอดแทรกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หน่วยการเรียนรู้เรื่องจำนวนเต็ม
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รหัสวิชา ค31101 รายวิชา คณิตศาสตร์พื้นฐาน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผู้สอน นางนงค์นุช ธรรมรังษี เวลา 2 ชั่วโมง

สาระที่ 1 : จำนวนและการดำเนินการ
มาตรฐาน ค1.1 : เข้าใจถึงความหลากหลายของการแสดงจำนวนและการใช้จำนวนในชีวิตจริง
มาตรฐาน ค1.2 : เข้าใจถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของจำนวนและความสัมพันธ์ระหว่างการ
ดำเนินการต่างๆ และสามารถใช้การดำเนินการในการแก้ปัญหาได้
มาตรฐาน ค1.4 : เข้าใจระบบจำนวนและสามารถนำสมบัติเกี่ยวกับจำนวนไปใช้ได้
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. ระบุหรือยกตัวอย่างจำนวนเต็มบวก จำนวนเต็มลบ และศูนย์ได้
2. เปรียบเทียบจำนวนเต็มได้
3. บวก ลบ คูณ หาร จำนวนเต็มได้
4. อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากการบวก การลบ การคูณ และ การหารจำนวนเต็ม พร้อมทั้งบอกความสัมพันธ์ ของการดำเนินการได้
5. นำความรู้และสมบัติเกี่ยวกับจำนวนเต็มไปใช้ได้
6. ตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบที่ได้
จุดประสงค์การเรียนรู้
เพื่อให้นักเรียนหาผลบวกของจำนวนเต็มได้
สาระการเรียนรู้
ในการหาผลบวกของจำนวนเต็ม เราสามารถทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 วิธีการ คือ
1. การใช้เส้นจำนวน
2. การใช้ความรู้เกี่ยวกับค่าสัมบูรณ์ โดย
• การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มบวกให้นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มบวก
• การบวกจำนวนเต็มลบกับจำนวนเต็มลบให้นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มลบ
• การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มลบให้นำค่าสัมบูรณ์ที่มากกว่าเป็นตัวตั้งลบด้วย ค่าสัมบูรณ์ที่น้อยกว่า ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มบวกหรือจำนวนเต็มลบตามจำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากกว่า
ข้อสังเกต
1. ผลบวกของจำนวนเต็มที่มีเครื่องหมายเหมือนกัน จะได้จำนวนที่มีเครื่องหมายเหมือนกับจำนวนที่นำมาบวกกัน
2. ผลบวกของจำนวนเต็มที่มีเครื่องหมายต่างกัน จะได้จำนวนที่มีเครื่องหมายเหมือนกับจำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากกว่า

กิจกรรมการเรียนการสอน
ชั่วโมงที่ 1 – 2 เรื่องการบวกจำนวนเต็ม
ขั้นนำ
ทบทวนความรู้เกี่ยวกับจำนวนเต็ม การเปรียบเทียบจำนวนเต็ม ค่าสัมบูรณ์และจำนวนตรงข้าม
ขั้นสอน
1. ครูและนักเรียนร่วมกันสนทนาเกี่ยวกับการบวกจำนวนเต็มบวกตามที่นักเรียนรู้ จากนั้นครูให้นักเรียนยกตัวอย่างการบวกจำนวนเต็ม โดยใช้เส้นจำนวนซึ่งเป็นตัวอย่างแสดงการบวกจำนวนเต็มแบบต่าง ๆ ดังนี้ โดยให้นักเรียนดูสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นการบวกจำนวนเต็มที่ครูสร้างขึ้นเองโดยใช้โปรแกรม Power Point

การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มบวก

ตัวอย่างที่ 1 3+2



วิธีการ
ขั้นที่ 1 เขียนแสดงจำนวน 3 บนเส้นจำนวนโดยเริ่มเขียนลูกศรจาก 0 และหัวลูกศรไปสิ้นสุดที่ 3
ขั้นที่ 2 เนื่องจากต้องนำ 2 ไปบวกกับ 3 จึงต้องต่อลูกศรจากที่สิ้นสุดในขั้นที่ 1 โดยให้ห่างจากเดิมไป สิ้นสุดที่ 5 ดังนั้น คำตอบในที่นี้คือ 5
ตัวอย่างที่ 2 5+3
วิธีการ นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มบวกมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มบวก




การบวกจำนวนเต็มลบกับจำนวนเต็มลบ

ตัวอย่างที่ 1 (-2) + (-4)



วิธีการ
ขั้นที่ 1 เขียนแสดงจำนวน -2 บนเส้นจำนวนโดยเริ่มเขียนลูกศรจาก 0 และหัวลูกศรไปสิ้นสุดที่ -2
ขั้นที่ 2 เนื่องจากต้องนำ -4 ไปรวมกับ -2 จึงต้องต่อลูกศรจากที่สิ้นสุดในขั้นที่ 1 โดยให้ห่างจากเดิม 4 หน่วยในทิศทางเดิม ไปสิ้นสุดที่ -6 ดังนั้นคำตอบในที่นี้คือ -6
ครูยกตัวอย่างสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน เช่น การที่นักเรียนไม่มีเงินแล้วต้องไปยืมเงินมาใช้ถือก็คือนักเรียนติดลบอยู่ ยิ่งไปยืมมาอีก ก็คือติดลบเพิ่มมากขึ้นแต่ว่าฐานนะทางเศรษฐกิจของนักเรียนก็คือยากจน หรือ มีเงินน้อยลง เช่น ติดหนี้แล้ว 100 บาท (-100) ไปยืมเงินมาอีก 200 บาท (-200) สรุปแล้วก็คือ ตอนนี้นักเรียนติดหนี้อยู่ทั้งหมด 300 บาท ซึ่งได้มาจาก (-100) + (-200) = -300 ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี
ตัวอย่างที่ 2 (-12)+(-4)
วิธีการ นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มลบ




การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มลบหรือจำนวนเต็มลบกับจำนวนเต็มบวก
ครูยกตัวอย่างกรณีให้นักเรียนศึกษาดู 2 กรณี ดังนี้
ครูยกตัวอย่างการที่นักเรียนมีหนี้สินแล้วหาเงินมาชำระหนี้ เช่น ติดหนี้อยู่ 400 บาท (-400) ทำงานหาเงินได้ 300 บาท และนำเงินไปชำระหนี้ สุดท้ายแล้วนักเรียนก็ยังติดหนี้ หรือติดลบอยู่ 100 บาท (-100) เขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ได้เป็น (-400)+300 = -100
ครูยกตัวอย่างการที่นักเรียนมีหนี้สินแล้วหาเงินมาชำระหนี้ เช่น ติดหนี้อยู่ 400 บาท (-400) ทำงานหาเงินได้ 500 บาท และนำเงินไปชำระหนี้ สุดท้ายแล้วนักเรียนก็ยังเหลือเงินอยู่ 100 บาท เขียนเป็นประโยคสัญลักษณ์ได้เป็น (-400)+500 = 100
ครูให้นักเรียนอภิปรายร่วมกันทั้ง 2 กรณี และให้นักเรียนสรุปให้ได้ว่าในการดำเนินชีวิตถ้าเราใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีน้อยใช้น้อย มีมากก็เก็บออม ชีวิตเราก็จะมีความสุข และไม่ติดหนี้ (ติดลบ)
ให้นักเรียนพิจารณาการบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มลบหรือจำนวนเต็มลบกับจำนวนเต็มบวกโดยใช้เส้นจำนวน โดยดูจากสื่อ อิเล็กทรอนิกส์ Power Point
ตัวอย่างที่ 1 (-2) + 3



วิธีการ
ขั้นที่ 1 เขียนแสดงจำนวน -2 บนเส้นจำนวนโดยเริ่มเขียนลูกศรจาก 0 และหัวลูกศรไปสิ้นสุดที่ -2
ขั้นที่ 2 เนื่องจากต้องนำ 3 ไปบวกกับ -2 แต่ 3 เป็นจำนวนบวก จึงต้องต่อลูกศรไปทางขวาห่างจาก -2 เป็นระยะ 3 หน่วย ไปสิ้นสุดที่ 1 ดังนั้น คำตอบในที่นี้คือ 1

ตัวอย่างที่ 2 10)+(-3)



วิธีการ นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มทั้งสองมาลบกัน โดยใช้จำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากเป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์จะเป็นจำนวนเต็มบวกหรือลบตามจำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากกว่า
2.ครูให้นักเรียนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการบวกจำนวนเต็ม จนสรุปได้ว่า
a. ผลบวกของจำนวนเต็มที่มีเครื่องหมายเหมือนกัน จะได้จำนวนที่มีเครื่องหมายเหมือนกับจำนวนที่นำมาบวกกัน
b. ผลบวกของจำนวนเต็มที่มีเครื่องหมายต่างกัน จะได้จำนวนที่มีเครื่องหมายเหมือนกับจำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากกว่า
3.ให้นักเรียนทำแบบฝึกหัด จากนั้นร่วมกันเฉลยโดยสุ่มเรียกนักเรียน
ขั้นสรุป
ครูและนักเรียนช่วยกันสรุปว่า (โดยครูใช้สื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบในการสรุป)
ในการหาผลบวกของจำนวนเต็ม เราสามารถทำได้หลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 วิธีการ คือ
1. การใช้เส้นจำนวน
2. การใช้ความรู้เกี่ยวกับค่าสัมบูรณ์ โดย
• การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มบวกให้นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มบวกมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มบวก
• การบวกจำนวนเต็มลบกับจำนวนเต็มลบให้นำค่าสัมบูรณ์ของจำนวนเต็มบวกมาบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มลบ
• การบวกจำนวนเต็มบวกกับจำนวนเต็มลบให้นำค่าสัมบูรณ์ที่มากกว่าเป็นตัวตั้งลบด้วย ค่าสัมบูรณ์ที่น้อยกว่า ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนเต็มบวกหรือจำนวนเต็มลบตามจำนวนที่มีค่าสัมบูรณ์มากกว่า

สื่อการเรียนการสอน
1. หนังสือ
2. ใบงาน / แบบฝึกหัด / แบบทดสอบ
3. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ Power Point

การวัดและประเมินผล
การวัดผลและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (K) โดยใช้
1. แบบฝึกหัด
2. แบบทดสอบ
การวัดผลและประเมินผลทักษะกระบวนการ (P) โดยการ
1. สังเกตพฤติกรรมการเรียน
2. ตรวจแบบฝึกหัด
3. ตรวจแบบทดสอบ
การวัดผลและประเมินผลความงอกงามด้านจริยธรรม (A) โดยพิจารณาจาก
1. ความซื่อสัตย์
2. ความประหยัดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. ตระหนักในคุณค่าและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์

ข้อเสนอแนะ
.......................................................................................................................................................................... ........................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................




บันทึกหลังสอน
.......................................................................................................................................................................... ........................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................

……………………………………
(นางนงค์นุช ธรรมรังษี)
ครูผู้สอน